Contact us
Find Hospital

English

ภาษาไทย

Single logo

ผิวไหม้จากแดด แค่ร้อนหรือเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง?

แสงแดดให้ทั้งความอบอุ่น แสงสว่าง และประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น การกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ดีต่อกระดูก ภูมิคุ้มกัน และช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง แสงแดดก็แฝงไว้ด้วยอันตรายที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยเฉพาะเมื่อผิวหนังได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไปจนเกิดเป็นภาวะผิวไหม้แดด ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยชั่วคราว แต่ความจริงมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็งผิวหนังค่ะ

รังสีจากแสงแดดที่ส่งผลต่อผิวมีหลายชนิด โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่แบ่งเป็น UVA, UVB และ UVC ซึ่งในจำนวนนั้น UVC ไม่สามารถทะลุชั้นบรรยากาศลงมาถึงพื้นโลกได้ ส่วนรังสี UVA จะซึมลึกเข้าสู่ผิวและทำให้ผิวแก่ก่อนวัย ในขณะที่ UVB เป็นตัวการหลักที่ทำให้ผิวไหม้แดดและเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง หากได้รับเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีการป้องกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่แดดแรงแทบตลอดทั้งปี การดูแลผิวจากแสงแดดจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม

อาการของผิวไหม้แดดมักเริ่มจากความรู้สึกแสบร้อน รอยแดง หรือผิวลอกหลังได้รับแดดจัด ซึ่งหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์นี้หลังไปทะเลหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานเกินไป แม้ดูเหมือนไม่รุนแรง แต่การสะสมความเสียหายของเซลล์ผิวจากรังสี UV เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และอาจนำไปสู่โรคผิวหนังเรื้อรังหรือแม้แต่มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งเป็นชนิดที่อันตรายและลุกลามเร็วได้อย่างเงียบๆ

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของไทยระบุว่า ระหว่างปี 2559–2561 มีผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 4,300 ราย หรือคิดเป็นวันละประมาณ 12 คน แม้ตัวเลขนี้จะดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเขตหนาวที่คนมีผิวขาวและไวต่อแดดกว่าเรา แต่แนวโน้มกลับเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการตระหนักรู้และป้องกันตัวเองจากแสงแดดอย่างจริงจังมากขึ้น

ผิวไหม้แดดเกิดได้กับทุกคน แต่บางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงกว่า ทั้งผู้ที่มีผิวขาวจัดหรือซีด ซึ่งมีเมลานินในผิวน้อย ทำให้ป้องกันรังสี UV ได้น้อยกว่า คนที่ทำงานกลางแจ้งเป็นประจำ เช่น เกษตรกร คนงาน นักกีฬา หรือผู้ที่เดินทางในพื้นที่แดดแรง เช่น ชายหาด ภูเขาสูง หรือในต่างประเทศที่แสงแดดสะท้อนจากหิมะและพื้นทรายกลับมายังผิวโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เด็กเล็กที่มีผิวบอบบาง ผู้ที่ไม่ใช้ครีมกันแดดหรือใช้ไม่สม่ำเสมอ และผู้ที่ใช้ยาหรือครีมบางชนิดที่ทำให้ผิวไวต่อแสง ก็มีโอกาสผิวไหม้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

การป้องกันผิวไหม้แดดไม่ใช่แค่การทาครีมกันแดดแล้วจบ แต่ควรเริ่มจากการหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น แต่หากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมเสื้อแขนยาว หมวก แว่นกันแดด และใช้ครีมกันแดดที่เหมาะสมเป็นประจำทุกวัน แม้ในวันที่อยู่ในร่มก็ตาม เพราะรังสี UV สามารถลอดผ่านกระจกหรือสะท้อนจากพื้นผิวต่างๆ ได้ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของผิว เช่น ไฝที่เปลี่ยนสี จุดที่โตเร็ว หรือแผลที่หายช้า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะหากเคยไหม้แดดบ่อยๆ หรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งผิวหนังต้องไม่ประมาท

ตัวช่วยอย่าง “ครีมกันแดด” ที่ควรมีติดกระเป๋าไว้ ควรมีค่า SPF อย่างน้อย 30 เพื่อป้องกัน UVB และมี PA+++ หรือ Broad Spectrum สำหรับป้องกัน UVA หากคุณเป็นคนที่เหงื่อออกง่ายหรือชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง แนะนำให้ใช้สูตรกันน้ำ และอย่าลืมทาครีมก่อนออกแดดประมาณ 15–30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือทันทีหลังว่ายน้ำหรือเหงื่อออกมาก และที่สำคัญคืออย่าลืมทาบริเวณที่หลายคนมักมองข้าม เช่น หลังหู คอ หลังมือ หรือเท้า

แต่ในกรณีที่ผิวไหม้แดดแล้ว การดูแลตัวเองเบื้องต้นสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น การประคบเย็น หรือใช้ครีมที่มีว่านหางจระเข้หรือคาลาไมน์ช่วยลดการอักเสบ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อฟื้นฟูเซลล์ผิว หลีกเลี่ยงการเกาและไม่ให้ผิวโดนแดดซ้ำ หากมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ หรือแสบลอกนานหลายวัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะผิวไหม้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าเกิดซ้ำๆ และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของสีหรือเนื้อผิวที่ผิดปกติ

แม้แสงแดดจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย หากรู้จักวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม การปกป้องผิวจากแสงแดดไม่ใช่แค่เพื่อความงาม แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพในระยะยาว ที่ช่วยให้ผิวสดใส แข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้ายอย่างมะเร็งผิวหนังได้ในอนาคตได้นะคะa

Related Articles