Contact us
Find Hospital

English

ภาษาไทย

Single logo

หัวไม่หมุน...แต่โลกหมุน! อาการเวียนหัวที่มากกว่าความมึนธรรมดา

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ที่จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนโลกทั้งใบกำลังหมุนไปรอบตัว ทั้งที่ตัวเองนั่งนิ่งๆ รู้ไว้เลยนะคะว่า อาการแบบนี้ไม่ใช่แค่ความมึนศีรษะธรรมดา แต่มันคือภาวะที่เรียกว่า “เวียนหัวบ้านหมุน” หรือ “เวอร์ทิโก้” (Vertigo) ซึ่งสร้างความรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในโลกที่หมุนรอบตัวตลอดเวลาเหมือนกำลังเล่นเครื่องเล่นตีลังกาในสวนสนุกแบบไม่สมัครใจ แต่นี่ไม่ใช่ความสนุก เพราะส่งผลโดยตรงต่อการทรงตัว การเคลื่อนไหว และการใช้ชีวิตประจำวันในหลายด้าน

อาการเวียนหัวบ้านหมุนเกิดจากความผิดปกติของระบบที่ช่วยในการทรงตัว ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหลายระบบในร่างกาย ไม่ได้มีแค่หูชั้นในเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดวงตา สมอง และเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อน เมื่อจุดใดจุดหนึ่งเกิดความผิดปกติ การรับข้อมูลที่สมองได้รับก็จะผิดเพี้ยน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ได้ขยับเลย

จากงานวิจัยหลายแห่งพบว่าอาการบ้านหมุนพบได้บ่อยกว่าที่หลายคนคิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งในประเทศทางฝั่งยุโรปพบว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ถึงหนึ่งในสามมีประสบการณ์บ้านหมุนในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า มีข้อมูลจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่ระบุว่าผู้ป่วยเวียนหัวถึงร้อยละ 80.5 มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นใน

ทั้งนี้อาการเวียนหัวบ้านหมุนมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่เกิดจากหูชั้นใน และกลุ่มที่เกิดจากสมอง ซึ่งกลุ่มแรกพบได้บ่อยที่สุด เช่น ภาวะหินปูนในหูหลุด หรือที่เรียกกันว่า BPPV ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผลึกแคลเซียมขนาดเล็กในหูชั้นในเคลื่อนออกจากตำแหน่ง แล้วไปกระตุ้นเซลล์รับความรู้สึก ทำให้สมองตีความผิดว่าร่างกายกำลังหมุน ทั้งที่อยู่เฉยๆ อาการนี้มักเกิดเวลาลุกนั่งเร็วๆ หันหัวแรงๆ หรือแม้แต่ตอนแปรงฟันก็ยังเป็นได้

โรคมีเนียร์ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ก็มีส่วนสำคัญ โดยอาการเกิดจากการมีของเหลวสะสมในหูชั้นในมากเกินไป จนทำให้รู้สึกบ้านหมุนร่วมกับอาการหูอื้อ หรือได้ยินเสียงน้อยลง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเช่น ไวรัสหวัดที่ส่งผลต่อหูชั้นใน แม้จะไม่มีไข้หรืออาการปวดหูก็ตาม

ในขณะที่กลุ่มอาการบ้านหมุนที่เกิดจากสมองจะพบได้น้อยกว่า แต่ก็น่ากังวลไม่น้อย เพราะเกี่ยวข้องกับโรคที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง หรือเดินเซ อีกกรณีที่พบได้คือเนื้องอกในสมองที่กดทับบริเวณควบคุมการทรงตัว ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ และยังมีไมเกรนชนิดพิเศษที่เรียกว่าไมเกรนแบบเวียนหัว ซึ่งในบางรายอาจไม่มีอาการปวดหัวเลย แต่กลับมีอาการบ้านหมุนอย่างชัดเจน

แม้ว่าอาการเวียนหัวบ้านหมุนจะเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผู้สูงอายุซึ่งระบบทรงตัวเริ่มเสื่อมตามวัย ผู้ที่เคยเป็นไมเกรนหรือเคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงคนที่เคยติดเชื้อในหูชั้นใน นอกจากนี้พฤติกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวศีรษะอย่างรวดเร็ว เช่น การลุกจากเตียงแบบปุบปับ ก้มเงยแรงๆ หรือกลิ้งตัวเปลี่ยนท่าทางนอนบ่อยๆ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้

แม้ว่าอาการเวียนหัวบ้านหมุนส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรง ดังนั้นหากมีอาการบ้านหมุนที่เกิดบ่อย รุนแรงจนน่ารำคาญ หรือมีอาการร่วมอื่น เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ได้ยินลดลง หรือเวียนหัวจนไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

การรักษาในปัจจุบันมักเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัดเฉพาะจุด เช่น การใช้ท่าบำบัดในผู้ป่วย BPPV เพื่อช่วยให้หินปูนกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม หรือการใช้ยาลดอาการเวียนหัว ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นอาการ เช่น การลุกเร็ว หันหัวแรงๆ หรือก้มเงยฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่ควรใส่ใจ เช่น การนอนหลับไม่พอ ความเครียดสะสม ภาวะขาดน้ำ หรือแม้แต่ความดันโลหิตต่ำจากการลุกเร็วๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีผลต่ออาการบ้านหมุนทั้งสิ้น แม้กระทั่งการเปลี่ยนระดับความสูงอย่างรวดเร็ว เช่น การขึ้นลิฟต์ หรือดำน้ำ ก็สามารถทำให้ระบบในหูชั้นในรวนได้ชั่วขณะ

อาการเวียนหัวบ้านหมุนอาจเป็นสัญญาณจากร่างกายที่กำลังบอกเราว่าบางอย่างเริ่มผิดปกติ แม้จะฟังดูน่าตกใจ แต่สามารถควบคุมและรักษาให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญคือต้องไม่มองข้าม อย่าปล่อยให้มันเกิดซ้ำๆ เพราะนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

Related Articles