
Social Detox พักจอ-พักใจ
ในยุคดิจิทัลที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราต่างคุ้นเคยกับการเชื่อมต่อโลกออนไลน์แทบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok หรือ LINE ที่ให้ทั้งความบันเทิง ข่าวสาร และการพูดคุยกับคนรอบตัวได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้ว แต่ในความสะดวกสบายที่ว่านี้ ก็ยังคงมีเรื่องให้ต้องระวัง เพราะหากใช้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการเว้นระยะหรือคัดกรองข้อมูลให้เหมาะสม สิ่งที่ควรเป็นประโยชน์ก็อาจย้อนกลับมาสร้างผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจได้โดยไม่รู้ตัว
ลองสังเกตตัวเองดูนะคะว่า เคยรู้สึกเหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่แค่เลื่อนดูหน้าจอมือถือเพียงไม่กี่นาที แต่กลายเป็นว่าผ่านไปเป็นชั่วโมงแบบไม่รู้ตัวไหมค่ะ นั่นเพราะการเปิดรับข้อมูลจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ เช่น ผู้ที่มีความเครียดสะสม วัยรุ่น หรือผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะวิตกกังวล ส่งผลให้เกิดอาการหดหู่ หนักใจ หรือแม้แต่ความไม่มั่นคงทางอารมณ์จากการเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับภาพสวยๆ ที่เห็นในหน้าฟีดของคนอื่น
ไม่ใช่แค่จิตใจที่ได้รับผลกระทบ ร่างกายก็เริ่มส่งสัญญาณเช่นกัน เช่น การนอนหลับที่ไม่เต็มอิ่มจากการเล่นมือถือก่อนนอน หรือการที่เวลาที่ควรใช้พูดคุยกับคนในชีวิตจริงถูกแทนที่ด้วยการจ้องหน้าจออย่างไม่มีจุดหมาย ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนเริ่มรู้สึกผูกความมั่นใจในตัวเองไว้กับยอดไลก์หรือคอมเมนต์ จนลืมไปว่าคุณค่าในตัวเรานั้นไม่ควรขึ้นอยู่กับการยอมรับจากคนในโลกออนไลน์เพียงเท่านั้น
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน และบางคนใช้สูงถึงเกือบ 10 ชั่วโมง ส่วนรายงานล่าสุดจาก DataReportal ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียกว่า 51 ล้านคน โดยเฉลี่ยใช้เวลาในโซเชียลเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอีกด้วย ตัวเลขเหล่านี้อาจฟังดูธรรมดาในยุคที่มือถือแทบจะติดตัวตลอดเวลา แต่เมื่อพฤติกรรมบางอย่างเริ่มเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น การเปรียบเทียบตัวเองบ่อยครั้ง การนอนไม่หลับเพราะต้องหยิบมือถือมาดู หรือการรู้สึกหดหู่ทุกครั้งที่เลื่อนหน้าฟีด นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาต้องหยุดพักได้แล้ว
คำว่า “Social Detox” ไม่ได้หมายถึงการหายไปจากโลกออนไลน์ตลอดไป แต่เป็นการเว้นระยะห่างจากโซเชียลชั่วคราว เพื่อให้สมองและหัวใจได้หยุดพักจากการไหลทะลักของข้อมูล การเริ่มต้นอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่กำหนดเวลาใช้งานให้ชัดเจนในแต่ละวัน ปิดแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็น หรือแม้แต่ลบแอปที่ทำให้รู้สึกเสพติดแบบไม่รู้ตัว แล้วหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยเติมเต็มใจแทน เช่น วาดรูป ออกกำลังกาย ทำอาหาร หรืออ่านหนังสือเล่มโปรด
แต่ใครที่ยังรู้สึกไม่พร้อมที่จะหักดิบจากโซเชียล ก็ไม่จำเป็นต้องกดปิดทุกแอปในทันที แค่เริ่มต้นจากการปรับมุมมองว่า "เลือก" เสพสิ่งที่ดีให้กับตัวเองได้ ลองติดตามเนื้อหาที่ส่งเสริมสุขภาพใจ เช่น บทความจิตวิทยาเชิงบวก คลิปสอนออกกำลังกาย หรือวิดีโอท่องเที่ยวที่ช่วยผ่อนคลาย แทนที่จะไหลไปกับกระแสที่สร้างความเครียดโดยไม่รู้ตัว
การพักจากหน้าจอแม้เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน หรือเลือกวันหยุดบางวันโดยไม่แตะโซเชียลเลย อาจให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ เพราะเมื่อไม่ได้อยู่กับข้อมูลที่กระตุ้นอารมณ์ตลอดเวลา เราจะรู้สึกสงบและมีสมาธิมากขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น มีเวลาสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และบางครั้งยังค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่ตัวเองหลงลืมไปนาน ไม่ว่าจะเป็นความชอบเล็กๆ งานอดิเรก หรือแม้แต่ความฝันที่อยากกลับไปทำ
นอกจากจะช่วยเยียวยาสุขภาพจิตแล้ว การทำ Social Detox ยังเปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้คนเปิดรับข้อมูลจากโซเชียลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้กลั่นกรอง บ่อยครั้งที่เราถูกดึงดูดด้วยพาดหัวที่กระตุ้นอารมณ์ แล้วแชร์ต่อโดยไม่ทันตรวจสอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งต่อการตัดสินใจ ความสัมพันธ์ และความมั่นคงทางจิตใจโดยรวม
ผลสำรวจจาก ETDA พบว่าเกินครึ่งของคนไทยเคยหลงเชื่อหรือแชร์ข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว กลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดคือวัยรุ่นและผู้สูงอายุ การเว้นวรรคจากโซเชียลจึงไม่เพียงแค่พักใจ แต่ยังช่วยให้เราได้กลับมาทบทวนและตัดสินใจด้วยสติมากขึ้นก่อนเชื่อหรือแชร์อะไรออกไป
หลายคนอาจกังวลว่าการไม่เข้าโซเชียลจะทำให้ตกข่าว แต่ในความเป็นจริง เราสามารถเลือกติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ข่าวคุณภาพ พอดแคสต์ หรือจดหมายข่าวรายวัน ที่ช่วยให้เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพาตัวเองเข้าไปจมอยู่ในกระแสตลอดเวลา
เมื่อมองให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นปัญหา หากเราใช้มันอย่างมีสติและรู้ทันเท่าทันตัวเอง การรู้จักเว้นจังหวะ เลือกเสพ เลือกพัก และกลับมาใช้เมื่อพร้อมอย่างเหมาะสม คือหนทางที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข และไม่ปล่อยให้มันกลายเป็นสิ่งที่ดูดพลังจากใจโดยไม่จำเป็น
หากรู้สึกว่าเริ่มเหนื่อยล้าทางอารมณ์จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือการปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อให้การพักใจครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลตัวเองอย่างแท้จริง